หากย้อนกลับไปเมื่อปี พุทธศักราช 2519 จะเห็นว่าสถานการณ์ต่างๆ ภายในประเทศไทยอยู่ในช่วงวิกฤต เกิดปัญหาชนชั้นและชองว่างระหว่างสังคม คนรวยและคนจน ปัญหาการไม่ได้รับความยุติธรรม คนทำดีกลับไม่ดี สังคมได้แปรเปลี่ยนไปยกย่องสรรเสริญคนไม่ดีหรือคอรัปชั่น หรือเอาเปรียบสังคม แต่มีฐานะมีเงินและมีอำนาจ จึงทำให้คนดีเกิดความท้อถอย ซึ่งเป็นโอกาสที่ฝ่ายซ้ายเริ่มแทรกแซงเข้ามา เพื่อชักจูงให้ประชาชนหันไปเป็นคอมมิวนิสต์ เสียงวิพากวิจารณ์จากนักวิชาการและนักธุรกิจ ที่ประกอบอาชีพสุจริตเริ่มมีมากขึ้น เพราะหากสถานการณ์และบรรยากาศของบ้านเมืองยังคงเป็นเช่นนี้ ผลกระทบย่อมเกิดขึ้นกับประเทศไทยอย่างแน่นอน และโอกาสที่ประชาชนจะหันไปหาระบบคอมมิวนิสต์ก็เป็นไปได้สูง ดังเช่นประเทศเพื่อนบ้านก็ถูกคอมมิวนิสต์เข้าครอบครองแล้ว
แนวคิดในการก่อตั้ง มูนิธิธารน้ำใจ จึงได้เกิดขึ้นจากการหารือร่วมกันของนักธุรกิจอย่าง คุณกอบชัย ซอโสตถิกุล ร.อ.กฤษา อรุณวงษ์ และ คุณหญิงชัชนี จาติกวณิช ซึ่งต้องการลดช่องว่างของสังคมโดยสนับสนุนและให้กำลังใจคนที่ตั้งใจทำความดีและเป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง ไม่ว่าคนๆ นั้นจะเป็นคนรวยหรือคนจน
คุณกอบชัย ฯ ได้เล่าถึงบรรยากาศและเจตนารมณ์ว่า “วันนั้นเราได้พูดคุยกันอย่างจริงจังและได้ข้อยุติว่าจะร่วมกันตั้งมูลนิธิขึ้นมา โดยจะเชิญท่านอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ มาเป็นประธานมูลนิธิ ส่งนชื่อนั้นเห็นชอบตรงกันในชื่อ มูลนิธิธารน้ำใจ ซึ่งคุณหญิงชัชนี จาติกวณิช เป็นคนเสนอ โดยศาสตราจารย์ ร.อ.กฤษฎา อรุณวงษ์ ได้กรุณาออกแบบสัญลักษณ์ของมูลนิธิฯ ให้ ซึ่งมีความหมายดีมาก วันที่เราไปเชิญท่านอาจารย์สัญญาเพื่อมาเป็นประธานมูลนิธิธารน้ำใจนั้น มีทั้งหมด 4 คน คือ ผม คุณหญิงชัชนี จาติกวณิช ศาสตราจารย์ ดร.เกษม สุวรรณกุล คุณพิสิษฐ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ซึ่งคุณพิสิษฐ์ รู้จักกับท่านอาจารย์สัญญาฯ หลังจากท่านอาจารย์สัญญาฯ ได้ทราบถึงวัตถุประสงค์และเจตนารมย์ ท่านก็ตอบรับที่จะเป็นประธานมูลนิธิฯ และได้บอกว่าจะเชิญอาจารย์ ดร.ประกอบ หุตะสิงห์ องคมนตรี มาเป็นรองประธาน และยังได้มาร่วมร่างตราสารของมูลนิธิฯ ด้วยตนเอง”
22 มีนาคม พุทธศักราช 2519 มูลนิธิธารน้ำใจภายใต้การนำของศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ โดยมีศาสตราจารย์ ดร.ประกอบ หุตสิงห์ เป็นรองประธาน ก็ได้ก่อตั้งและจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลขึ้น ได้รับหมายเลขทะเบียน 929 เพื่อมุ่งหมายที่จะกระทำ ส่งเสริม และสนับสนุนกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม
เมื่อก่อตั้งเสร็จแล้วจึงได้เริ่มดำเนินกิจกรรมต่างๆ ทันที และกิจกรรมแรกที่ได้ดำเนินการคือ “โครงการคนไทยตัวอย่าง”
เสาหลักของมูลนิธิธารน้ำใจ คือ ท่านอาจารย์ สัญญา ธรรมศักดิ์
ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2519 เป็นต้นมา ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ได้นำพามูลนิธิธารน้ำใจ ให้มีความเจริญก้าวหน้าและพัฒนาขึ้นจนสามารถสร้างสาธารณประโยชน์ต่างๆ ให้แก่สังคมและประเทศชาติได้มากมาย ทั้งด้วยบารมีของความเป็นอดีตประธานศาลฎีกา อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตนายกรัฐมนตรี อดีตประธานองคมนตรี และความดีต่างๆ ของท่านอาจารย์สัญญา ทำให้นักธุรกิจ ข้าราชการและข้าราชการบำนาญ ที่เป็นคณะกรรมการอยู่ในมูนิธิฯ มีความมุ่งมั่นที่จะร่วมกันส่งเสริมและสร้างสรรค์พัฒนาสังคม ให้มีความเจริญจนเป็นรากฐานหนึ่งของประเทศโดยมิได้หวังสิ่งใดตอบแทน เพื่อสืบทอดเจตนาของท่านสัญญา ธรรมศักดิ์ จึงถือได้ว่าท่านอาจารย์สัญญาฯ เป็นเสาหลักของมูลนิธิธารน้ำใจ เพราะหากไม่มีท่านอาจารย์สัญญาฯ มาเป็นประธานมูลนิธิฯ และไม่ได้บารมีของท่านมาเสริมกิจกรรมและโครงการต่างๆ ของมูลนิธิธารน้ำใจคงไม่ประสบความสำเร็จ เช่นทุกวันนี้ และหากย้อนเวลากลับไปในวันที่ก่อตั้งมูลนิธิธารน้ำใจ หากไม่ได้ท่านอาจารย์ฯ มาเป็นประธานมูลนิธิฯ เจตนารมณ์ในการที่จะช่วยลดช่องว่างทางชนชั้นและสังคมของมูลนิธิฯ คงจะไม่สามารถดำเนินได้อย่างเป็นรูปธรรมเช่นทุกวันนี้
อ.สัญญาฯ เคารพและให้เกียรติข้อคิดเห็นของกรรมการทุกคน
ในการประชุมและการทำงานทุกครั้ง ท่านอาจารย์สัญญาฯ จะให้เกียรติและเปิดโอกาสให้กรรมการทุกคนแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ จากนั้นก็จะนำข้อเสนอแนะ และข้อคิดเห็นของคณะกรรมการมาเป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมและการทำงานของมูลนิธิธารน้ำใจ ซึ่งท่านศาสตราจารย์ ดร.เกษม สุวรรณกุล รองประธานกรรมการมูลนิธิฯ คนปัจจุบันและประธานโครงการคนไทยตัวอย่างได้กล่าวว่า “ตลอดเวลาที่ผมร่วมทำงานใกล้ชิดกับท่านอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ผมได้เรียนรู้ว่า ท่านเป็นผู้มีอุดมการณ์ มีหลักการและมีเหตุผล มีความซื่อสัตย์สุจริต มีสติปัญญาเฉียบแหลทม ไม่เจ้ายศเจ้าอย่าง มีจิตใจโอบอ้อมอารี และให้ความอบอุ่นแก่ผู้ใต้บังคับบัญชา ท่านเป็นผู้ใหญ่ที่สมถะและเห็นแก่ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน ท่านอุทิศตนด้วยความเสียสละไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านเป็นผู้มีคุณธรรมและเมตตาสูง จึงเป็นที่รักและเคารพของผู้ร่วมงาน ด้วยคุณลักษณะดังกล่าวทำให้ผมและทุกคนที่มีโอกาสร่วมงานกับท่านจะรู้สึกอบอุ่นและสบายใจ ท่านอาจารย์จะให้เกียรติกับทุกๆ คน ท่านจะรับฟังข้อคิดเห็นของทุกคนด้วยเหตุผล ไม่เคยชี้นำหรือตัดสินสิ่งใดด้วยความคิดเห็นของตนเองเพียงลำพัง แต่จะให้เสียงส่วนใหญ่ของที่ประชุมเป็นผู้ตัดสิน ถือได้ว่าท่านเป็นแบบอย่างของนักประชาธิปไตย และเป็นผู้นำโดยแท้จริง ผมคิดว่าคงไม่มีใครเปรียบได้เหมือนท่านอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์”